การทำผม

การเกล้าผมและเครื่องประดับศีรษะ
          1. การเกล้าผม  การเกล้ามวยผมของหญิงชาวล้านนามีหลายแบบ เช่น เจ้านายไทเขินจะเกล้ามวยไว้กลางหัว ไทใหญ่มวยอยู่ กลางหัวแต่จะเอียงมาทางซ้าย เพื่อให้ปลายผมทิ้งชายยาวห้อยลงมา ส่วนการเกล้าผมอย่างคนไทยวน มีชื่อเรียกขานต่างๆ กัน ดังนี้
          ‘เกล้าวิดว้อง’ เป็นการเกล้าผมทรงสูงแล้วดึงปอยผมขึ้นมาเป็นว้องหรือเป็นห่วงอยู่กลางมวย
           ‘เกล้าผมบ่มจ๊อง หรือ ผมอั่วจ๊อง’ คือ การเอาผมปลอมปอยหนึ่ง (จ๊อง-ช้อง) ใส่เข้าไปในมวยผมเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
          ‘เกล้าผมแบบอี่ปุ่น หรือ เกล้าแบบสตรีญี่ปุ่น’ เป็นทรงผมที่นิยมมากในสมัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

          2. เครื่องประดับศีรษะและการตกแต่งมวยผม  ‘ปิ่นปักผม’ ชาวยองเรียกปิ่นว่า หมาดโห ส่วนลาวล้านช้างเรียกว่า หมั้นเกล้า การใช้ปิ่นปักผมมีประโยชน์ทั้งใช้เพื่อขัดผมให้อยู่ทรง หรือใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามให้มวยผม วัสดุที่นำมาทำปิ่นก็มีแตกต่างกันไป เช่น ปิ่นเงิน ปิ่นทองคำ ปิ่นทองเหลือง ปิ่นที่ทำจากเขา-กระดูกสัตว์
           ลักษณะของปิ่นปักผม มีหลายรูปแบบต่างกันออกไป เช่น ปิ่นทองเหลืองลักษณะโบราณที่แม่แจ่ม ทำเป็นช่อชั้นคล้ายเจดีย์ ซึ่งปิ่นโบราณที่พบในล้านนาก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ส่วนยอดปิ่นอาจประดับด้วยอัญมณีอย่างทับทิมหรือหินสีก็ได้ นอกจากนี้ยัง มีปิ่นที่ทำเป็นรูปร่ม ได้แก่ ปิ่นจ้องของชาวไทลื้อ หรือไทเขินในเชียงตุง
          ‘ดอกไม้ไหว’ เมื่อยามจะไปวัดทำบุญหญิงชาวล้านนามักจะเหน็บดอก ไม้ไว้ที่มวยผม ดังมีคำกล่าวว่า ‘เหน็บดอกไม้เพื่อบูชาหัว และเพื่อก้มหัวบูชาพระเจ้า’ โดยดอกไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาประดับเวลาไปวัดนั้น มักเป็นดอกไม้หอมสีสุภาพ เช่น ดอกเก็ดถะหวา (ดอกพุดซ้อน) ดอกจำปา-จำปี เป็นต้น ส่วนดอกไม้ที่นำมาประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามนั้น มักนิยมใช้ดอกเอื้องผึ้ง ซึ่งต่อมาได้มีการ ประดิษฐ์ดอกเอื้องด้วยทองคำ เงิน ทองเหลือง เรียกว่า เอื้องเงินเอื้องคำ นอกจากนั้นก็ยังมีดอกเอื้องที่ทำจากกระดาษอีกด้วย

          ‘หวีสับ’ หวีสับที่นำมาประดับผมมีทั้งหวีงา หวีทอง หวีเงิน หวีเขาสัตว์ หรือปัจจุบันมักเห็นเป็นหวีพลาสติก ซึ่งพบได้มากในหญิง ชาวไทลื้อสิบสองพันนา ที่มักจะใช้หวีสับสีสันสดใสเป็นเครื่องประดับมวยผม ส่วนหวีที่ทำจากทองคำ เงิน หรือ หวีที่ทำจากงาช้าง มักจะเป็นหวีของชาวไทใหญ่
           ‘โพกหัว เคียนผ้า’ มักพบการโพกหัวในชีวิตประจำวันของ คนเฒ่าคนแก่ชาวยองในลำพูน หรือชาวไทลื้อในสิบสองพันนา ที่ต่างก็โพกผ้าขาวเป็นปกติเวลาไปวัดเพื่อความเรียบร้อย อีกทั้งยังช่วยกันแดดและกันฝุ่นผงที่จะมาเกาะผมที่ชโลมน้ำมันมะพร้าวไว้
          นอกจากนั้นการโพกผ้ายังสามารถเป็นตัวบ่งชี้สถานภาพของผู้หญิงอีกด้วย เช่น หญิงไทลื้อในเมืองอู ถ้ายังไม่ออกเรือนจะ โพกหัวด้วยผ้าสีชมพู แต่ถ้าออกเรือนแล้ว จะโพกผ้าสีอะไรก็ได้

Leave a comment